สารจากประธานกรรมการ

บริษัทฯ มีสัญญารายได้ O&M ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งคงเหลือระยะเวลาอีก 18 ปี ทำให้น่าจะสามารถดำเนินการสัญญาโครงการสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ได้อีก จากความได้เปรียบในการเป็นผู้บริหารรถไฟฟ้าที่มีประสบการณ์และฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง

นายคีรี กาญจนพาสน์

  • ประธานกรรมการ /
  • ประธานคณะกรรมการบริหาร /
  • ประธานคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

เรียน ท่านผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกท่าน

ในนามของคณะกรรมการบริษัทฯ เรามีความไม่สบายใจอย่างยิ่งกับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่เกิดภาวะขาดทุนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่เราประกาศเปลี่ยนมาดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ ‘บีทีเอส กรุ๊ป’ และขอแสดงความเสียใจที่ไม่สามารถอนุมัติให้มีการเสนอจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2553

อย่างไรก็ตาม จากมุมมองของผม กลุ่มบริษัทยังคงแข็งแรงมาก แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสภาวะการดำเนินธุรกิจที่ผันผวน ส่งผลให้การลงทุนของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมของเราในบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KEX) และบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER) พบกับสถานการณ์ที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ กล่าวคือแม้ว่าการลงทุนในบริษัทเหล่านี้จะเคยให้ผลตอบแทนที่ดีในอดีต (ทั้งผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น และการจ่ายเงินปันผล) แต่สภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การแข่งขันที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ส่งผลให้สถานการณ์ในระยะเวลาต่อมาย่ำแย่ลง ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการในบริษัทที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างยากลำบาก โดยหลังจากไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้ว ได้ตัดสินใจจำหน่ายเงินลงทุนใน KEX และ SINGER เพื่อลดความสูญเสียในอนาคต

ทั้งนี้ เรายังคงเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจการให้บริการรถไฟฟ้าของบีทีเอสซึ่งมีความมั่นคงและสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ผมหวังว่าเราจะกลับมามีสถานะที่แข็งแกร่งและสามารถจ่ายเงินปันผลได้อีกครั้งในอนาคตอันใกล้

ข้อพิพาททางกฎหมายจะคลี่คลาย พร้อมก้าวไปข้างหน้า

สำหรับประเด็นต่อเนื่องเรื่องหนี้ค้างชำระจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที)1 เราต้องยอมรับว่าแม้เคที และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะได้ชำระเงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยค้างชำระค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 23.3 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่ก่อนหน้านั้นก็ทำให้เรามีความไม่คล่องตัวไประยะหนึ่ง

ในส่วนของหนี้ค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ผมเชื่อมั่นว่าประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องของสัญญาของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายจะได้รับการยืนยันในไม่ช้า เนื่องจากในอดีต เคที และ กทม. ได้มีการชำระค่าจ้างเดินรถเต็มจำนวนมาโดยตลอด (จนถึงเดือนเมษายน 2562) และหลังจากนั้นชำระค่าจ้างเดินรถเพียงบางส่วนเท่านั้น (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562) การชำระเงินดังกล่าวนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันว่า สัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายของเราสามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) ได้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องให้มีการชำระหนี้ O&M ข้างต้น ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาที่เป็นผลบวกต่อบริษัทฯ แล้ว และผมเชื่อว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่จะออกมาในเร็ววันนี้ จะทำให้เรื่องหนี้ค้างชำระต่าง ๆ คลี่คลายและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

กลับมาพร้อมกับสถานะที่แข็งแกร่ง

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 บีทีเอส กรุ๊ป มีเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่อง จำนวน 19.4 พันล้านบาท รวมถึงวงเงินพร้อมเบิกใช้จากสถาบันการเงิน นอกจากนี้ การได้รับชำระหนี้ค่า E&M จากเคที และ กทม. จำนวน 23.3 พันล้านบาท ในวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา รวมถึงหนี้ค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ที่คาดว่าจะได้รับอีกจำนวน 36.3 พันล้านบาท2 และเงินอุดหนุนจากภาครัฐภายใต้สัญญาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง จำนวน 4.8 พันล้านบาทต่อปี จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้งบแสดงฐานะทางการเงินของบีทีเอส กรุ๊ป อย่างมีนัยสำคัญ

มุมมองในอนาคต

บริษัทฯ มีสัญญารายได้ O&M ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งคงเหลือระยะเวลาอีก 18 ปี ทำให้น่าจะสามารถดำเนินการสัญญาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ได้อีกจากความได้เปรียบในการเป็นผู้บริหารรถไฟฟ้าที่มีประสบการณ์และฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง รวมทั้งคาดว่าธุรกิจหลักของวีจีไอจะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง โดยบริษัทฯ ยังคงมุ่งหาโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ MOVE MIX และ MATCH อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงแนวโน้มของตลาดและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิด และยังคงมีมุมมองเชิงบวกว่าเราจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าประทับใจได้ นอกจากนี้ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.03 จากร้อยละ 1.9 ในปี 2566 เรามั่นใจว่านโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจะนำพาประเทศไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น เราพร้อมที่จะเดินหน้าขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง และเชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยยังคงต้องการพัฒนาระบบรางอย่างต่อเนื่อง เราจะเป็นผู้เล่นหลักที่สำคัญของการเติบโตที่ท้าทายนี้

บริษัทขนส่งที่ยั่งยืนที่สุดในโลก

ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้นและมีแรงกดดันให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น รัฐบาลทั่วโลกตระหนักว่า จะต้องใช้ระบบรางไฟฟ้าในการคมนาคม (ทั้งขนส่งผู้โดยสารและสินค้า) เป็นหลักจึงจะนำไปสู่ ‘การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในด้านคมนาคม’ (Transport Net Zero) เราเชื่อมั่นว่า สิ่งนี้เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับความยั่งยืนของโมเดลธุรกิจของเรา และนำมาซึ่งโอกาสในการเติบโตอย่างมหาศาลในทศวรรษข้างหน้า

เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ความพยายามของเราได้รับการยอมรับอีกครั้งในปีนี้ โดยบริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทขนส่งที่ยั่งยืนที่สุดในโลกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันจาก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ในปี 2567/68 นี้ บริษัทฯ จะก้าวไปสู่อีกขั้นของการพัฒนากลยุทธ์ด้านความยั่งยืน โดยในเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติเป้าหมายของบริษัทฯ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายใต้มาตรฐานของ SBTi

สุดท้ายนี้ ผมขอแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งต่อพนักงานทุกท่านที่ทุ่มเท ตลอดจนผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกท่าน ความเชื่อมั่นของพวกท่านมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เราฝ่าฟันอุปสรรคที่ยากลำบาก และเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต นอกจากนั้น บริษัทฯ จะยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ เพื่อความยั่งยืนของบริษัทฯ และประเทศไทยต่อไป

1 บริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นและถือหุ้น 99.98% โดยกรุงเทพมหานคร
2 ณ 31 มีนาคม 2567
3 ข้อมูลจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2567