MOVE

ธุรกิจ MOVE: เราเป็นผู้บุกเบิกรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี โดยโครงข่ายรถไฟฟ้าในปัจจุบันของเราขยายตัวเพิ่มขึ้นครอบคลุมระยะทางรวม 138.0 กม. สำหรับธุรกิจ MOVE เรามุ่งหวังจะเป็นผู้ให้บริการการเดินทางแบบ door-to-door แก่ผู้โดยสารด้วยรูปแบบการเดินทางที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นทางราง ทางถนน ทางน้ำหรือทางอากาศ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างการให้บริการการเดินทางอย่างสมบูรณ์แบบ รวมถึงเพื่อตอบโจทย์การเดินทางตั้งแต่ก้าวแรกถึงก้าวสุดท้ายของผู้โดยสาร เรายังได้ขยายความสนใจไปยังระบบคมนาคมขนส่งอื่นๆ อาทิ รถโดยสาร เรือโดยสาร ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สนามบิน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ เป้าหมายของธุรกิจ MOVE ของเรายังคงมุ่งเน้นการให้บริการที่ปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารในการเดินทางในแต่ละวัน เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต

ธุรกิจระบบขนส่งมวลชนทางราง
สายสีเขียวอ่อน:
เคหะ - คูคต
สายสีเขียวเข้ม:
สนามกีฬาแห่งชาติ - บางหว้า
68.25 กิโลเมตร
60 สถานี

โครงการรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก

บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) เป็นผู้รับสัมปทานจากกทม. ในการให้บริการรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักแต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่ปี 2542 ภายใต้สัมปทานความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนในรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี (2542-2572) โดยสายหลักประกอบไปด้วยสายสุขุมวิท (หมอชิต - อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร) และสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ - สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร) ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร 24 สถานี

ต่อมาในเดือนเมษายน 2556 บีทีเอสซีได้ขายสิทธิในรายได้ค่าโดยสารสุทธิในอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากการเดินรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักในช่วงระยะเวลาที่เหลือให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) โดยบีทีเอสซียังคงเป็นผู้บริหารและเดินรถในส่วนรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังลงทุนในสัดส่วน 33% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดในกองทุน BTSGIF

โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 1

โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจากระบบรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก ระยะทาง 12.75 กิโลเมตร เริ่มเปิดให้บริการในปี 2552 ประกอบไปด้วยส่วนต่อขยาย 2 เส้นทางคือ ส่วนต่อขยายสายสีลม (สะพานตากสิน - บางหว้า ระยะทาง 7.45 กิโลเมตร 6 สถานี) และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (อ่อนนุช - แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร 5 สถานี) ต่อมาในปี 2555 บีทีเอสซีได้ลงนามในสัญญากับเคทีในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายดังกล่าวเป็นเวลา 30 ปี (2555-2585) ทั้งนี้ สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงนี้ จะครอบคลุมถึงงานรับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงระบบโครงการรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร ภายหลังครบกำหนดอายุสัญญาสัมปทานในเดือนธันวาคม 2572

โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2

เดือนมีนาคม 2560 บีทีเอสซีได้ลงนามในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ครอบคลุมระยะเวลา 25 ปี (2560-2585) ระยะทางรวม 32.0 กิโลเมตร ประกอบด้วย 2 เส้นทาง ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง - เคหะฯ ระยะทาง 13.0 กิโลเมตร) และส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต - คูคต ระยะทาง 19.0 กิโลเมตร)

กรุงธนบุรี - คลองสาน
1.8 กิโลเมตร
3 สถานี

โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 บีทีเอสซีและเคที ได้เข้าลงนามในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 (กรุงธนบุรี - คลองสาน, ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร) เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยโครงการดังกล่าวมีจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสีเขียวที่สถานีกรุงธนบุรี และเชื่อมกับอาคารอเนกประสงค์ไอคอนสยาม

แคราย-มีนบุรี
38 กิโลเมตร
32 สถานี
ลาดพร้าว-สำโรง
30.4 กิโลเมตร
23 สถานี

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้เข้าลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร) กับ รฟม. ระยะทางรวม 64.9 กิโลเมตร 53 สถานี ทั้ง 2 บริษัทย่อยนี้ก่อตั้งขึ้นมาจากกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV consortium) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) โดยมีสัดส่วนการร่วมทุน 75%, 15% และ 10% ตามลำดับ ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองเป็นโครงการสัมปทานในรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี

โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) (BLAND) ได้ลงนามในสัญญาร่วมกับ บริษัท นอร์ทเทิร์นบางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี คิดเป็นระยะทาง 2.6 กม. และสร้างอีก 2 สถานีเพิ่มเติม ได้แก่ สถานีอิมแพ็คเมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์ 1) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2568

ธุรกิจที่นอกเหนือจากระบบขนส่งมวลชนทางราง

ระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT

โครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ BRT บริหารโดยบีทีเอสซี เป็นโครงการแรกเริ่มของทางกรุงเทพฯ ที่จะเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้าด้วยกัน เพื่อให้บริการระบบขนส่งมวลชนเป็นแบบบูรณาการทั้งในเขตเมืองและพื้นที่รอบนอก โดยบีทีเอสซีเป็นผู้รับสัมปทานจากกทม. ทั้งนี้ ระบบเดินรถของ BRT จะมีความเร็วสูงกว่ารถโดยสารประจำทางทั่วไปเพราะจะวิ่งบนช่องทางพิเศษที่แยกออกจากถนนหลัก BRT มีระยะทางรวม 15.0 กิโลเมตร 12 สถานี (ช่องนนทรี - ตลาดพลู) โดยมีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีช่องนนทรี

โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบิน

กิจการร่วมค้า BBS (BA ถือหุ้น 40%, BTS Group 40% และ STEC 20%) ยื่นเข้าร่วมประมูลโครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินต่อกองทัพเรือไทย ภายใต้สัญญาสัมปทาน PPP Net Cost เป็นระยะเวลา 50 ปี โครงการจะรวมถึงอาคารผู้โดยสาร 3, Commercial Gateway, Cargo Village ซึ่งประกอบไปด้วย Free Zone และ Cargo Complex โดยโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สนามบินนานาชาติอู่ตะเภาตั้งอยู่ในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง นับเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR (BTS Group ถือหุ้น 40%, GULF ถือหุ้น 40%, STEC ถือหุ้น 10% และ RATCH ถือหุ้น 10%) เป็นผู้ชนะการประมูลภายใต้สัญญาสัมปทาน PPP Gross Cost โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 เส้นทาง คือ (i) สายบางปะอิน – นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 196 กม. และ (ii) สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ระยะทางประมาณ 96 กม.

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้าง (EV Bike)

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 มีการจัดตั้งการร่วมค้าใหม่ ระหว่างบีทีเอส กรุ๊ป (ถือหุ้น 66.7%) และ บริษัท วินโนหนี้ จำกัด (วินโนหนี้) (ถือหุ้น 33.3%) เพื่อจัดตั้งบริษัท สูมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด (สูมาร์ทอีวี ไบค์)

การลงทุนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายบริการ Door-to-Door เชื่อมต่อรูปแบบการเดินทางของ BTS ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้แก่ผู้โดยสารบีทีเอส และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง อีกทั้งยังส่งเสริมการสัญจร ในเมืองอย่างยั่งยืนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% ต่อปี

บริษัท บีทีเอส อินฟราสตรัคเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (BTS INFRASTRUCTURE DEVELOPMENT COMPANY LIMITED: BID)

เพื่อรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสายงาน MOVE BTS Group ได้จัดตั้งบริษัท BTS INFRASTRUCTURE DEVELOPMENT COMPANY LIMITED (BID) โดยใช้ทีมงานบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญที่สั่งสมจากประสบการณ์ดำเนินการ BTSSkyTrain ทั้งด้านบริหารโครงการ (Project Management) ด้านงานออกแบบ วิศวกรรมและงานซ่อมบำรุง (Design, Engineering and Maintenance) โดยมีผลงานในแต่ละด้าน ดังต่อไปนี้

งานบริหารโครงการ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ: BID เป็นผู้บริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบรางหนัก รางเบา และรางเดี่ยว ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง ระยะที่ 1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งทั้ง 5 เส้นทางเปิดให้บริการแล้ว และมีส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี อยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยมีแผนจะเปิดให้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2568 นี้

นอกจากนี้ BID ยังเป็นผู้บริหารโครงการ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) โดยทั้งสองโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการ และมีแผนที่เปิดให้บริการในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ

งานซ่อมบำรุง: BID เป็นผู้บริหารและดำเนินงานการซ่อมใหญ่ในช่วงกลางของอายุการใช้งาน (Mid-Life Refurbishment) ของรถไฟฟ้าบีทีเอส ชุดแรก จำนวน 105 ตู้ ประกอบด้วยงานวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้างรถ และโบกี้ งานปรับเปลี่ยนระบบขับเคลื่อน ระบบห้ามล้อ ระบบปรับอากาศ ระบบประตู งานซ่อมสีทั้งภายในภายนอก โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2564 และมีแผนจะแล้วเสร็จในปี 2570

นอกจากนี้ BID ยังเป็นผู้ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการบริหารงานซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีทอง งานซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส 41 ขบวน ประกอบด้วย รถไฟฟ้า EMU B1 จำนวน 12 ขบวน รถไฟฟ้า EMU B2 จำนวน 5 ขบวน และรถไฟฟ้า EMU B3 จำนวน 24 ขบวน