การบริหารจัดการความเสี่ยง

การบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก ที่จะช่วยให้กลุ่มบริษัทบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่กำหนดไว้และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยนโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กรของกลุ่มบริษัทมุ่งเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มแข็งมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ ตามมาตรฐานของ Committee of the Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO) เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้มีประสิทธิภาพ ในการพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ

วัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยง

บริษัทฯ มุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงที่เข้มแข็งในทุกระดับขององค์กร โดยเริ่มจากคณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารทุกระดับ เป็นผู้นำและส่งเสริมให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ มีการสร้างความรู้ความเข้าใจและให้การสนับสนุนผ่านการฝึกอบรมและทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรสามารถนำการบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการดำเนินงานจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร และมีการแต่งตั้งผู้ประสานงานด้านการบริหารความเสี่ยงจากแต่ละหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ประสานงานและรายงานเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงระหว่างหน่วยงานเจ้าของความเสี่ยงกับหน่วยงานบริหารความเสี่ยง

การบริหารความเสี่ยงในแนวทางดังกล่าวเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงในทุกระดับขององค์กร พร้อมทั้งเป็นช่องทางในการรายงานความเสี่ยงไปยังระดับกลุ่มบริษัท ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

ประเภทของความเสี่ยง แบ่งออกเป็นความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ความเสี่ยงด้านการเงิน ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ชมชุน และการกำกับดูแลกิจการ รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

บริษัทฯ กำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการบริหารความเสี่ยง รวมถึงกำหนดผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารความเสี่ยงองค์กรของกลุ่มบริษัท โดยคณะกรรมการบริษัท มีความรับผิดชอบในการกำกับดูแลนโยบายของกลุ่มบริษัท และตั้งคณะกรรมการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง จะทำหน้าที่สอบทานนโยบายการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มบริษัท และกำกับดูแลความมีประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มบริษัท และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยทุก 6 เดือน คณะทำงานด้านการบริหารความเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของหน่วยงานการบริหารความเสี่ยงของแต่ละกลุ่มธุรกิจ มีความรับผิดชอบในการจัดทำนโยบายการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มบริษัท นำเสนอความเสี่ยงต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และติดตามประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทและรายงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงอย่างน้อยทุก 6 เดิอน โดยกระบวนการบริหารความเสี่ยงประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การกำกับดูแลและวัฒนธรรม 2) กลยุทธ์และการกำหนดวัตถุประสงค์ 3) ผลการปฏิบัติงาน 4) การสอบทานและการแก้ไขปรับปรุง และ 5) สารสนเทศ การสื่อสาร และการรายงาน คณะกรรมการตรวจสอบ จึงมีความรับผิดชอบในการสอบทานความมีประสิทธิผลและความเหมาะสมของนโยบายการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มบริษัท และให้ความเชื่อมั่นและคำแนะนำต่อคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ สำนักตรวจสอบภายใน จะทำหน้าที่ในการสอบทานและประเมินความมีประสิทธิผลของกระบวนการบริหารความเสี่ยงรวมถึงให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความเพียงพอและประสิทธิผลของกระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นอิสระต่อการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มบริษัท

รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับความเสี่ยงหลักของกลุ่มบริษัทบีทีเอส สามารถดูได้ใน รายงานประจำปี 2566/67 (แบบ 56-1 One Report) บทที่ 4.3 การบริหารจัดการความเสี่ยง

รายงานประจำปี

อ่านเพิ่มเติม

เอกสาร