บีทีเอสจัดพิธีรับตู้รถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ท่าเรือแหลมฉบัง

กลับ

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีพิธีรับตู้รถไฟฟ้าบีทีเอสใหม่ชุดแรก จำนวน 4 ตู้ จากทั้งหมด 35 ตู้ ณ ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ได้เชิญ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธี ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน อาทิ มร.แอนโทนี เชย์ ประธานและหัวหน้าฝ่ายบริหาร บริษัท ซีเมนส์ จำกัด (ประเทศไทย) ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารจากกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด พร้อมด้วยผู้บริหารจากบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีทีเอสซี กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทฯได้ลงนามสัญญาว่าจ้าง บริษัท ซีเมนส์ จำกัด เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 ในการผลิตและประกอบตู้รถไฟฟ้าใหม่จำนวน 35 ตู้ มูลค่าประมาณ 2,100 ล้านบาท เพื่อนำมาประกอบเข้ากับขบวนรถไฟฟ้าเดิมที่มีความยาว 3 ตู้ ต่อขบวน เป็น 4 ตู้ ต่อขบวน นั้น บัดนี้ตู้รถไฟฟ้าที่สั่งซื้อเพิ่มได้ลำเลียงจากเมืองท่าเบรเมอร์ฮาเฟน (Bremerhaven) ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 โดย ตู้รถไฟฟ้าใหม่ 4 ตู้ แรก ได้ถึงท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 ซึ่งตู้รถโดยสารนี้ผลิตและประกอบที่โรงงาน Siemens ในเมืองมิวนิค ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ตู้รถไฟฟ้าใหม่ที่ผลิตเพิ่มขึ้น บริษัทฯ ได้มีการปรับเสาราวจับแบบใหม่จากเดิมเป็นเสาเดี่ยวให้เป็นเสาราวจับแบบ 3 แกน ซึ่งจะเป็นแบบเดียวกับขบวนรถไฟฟ้าที่ผลิตจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากเสาราวจับแบบ 3 แกน จะช่วยอำนวยความสะดวกสบายและเพิ่มพื้นที่ในการยึดจับของผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนสีของห่วงจับตรงราวจับยึดต่างๆ ให้ดูสวยงามทันสมัยและง่ายต่อการบำรุงรักษา รวมทั้งเพิ่มพื้นที่และอุปกรณ์สำหรับรถเข็นผู้พิการโดยจะมีเข็มขัดนิรภัยสำหรับจับยึดรถเข็นผู้พิการและราวจับให้ นอกจากนั้นยังได้ติดตั้งเพิ่มเติมระบบแสงสว่างบริเวณทางเดินเชื่อมระหว่างตู้รถไฟฟ้า (Gangway) ทั้งนี้จะทำการปรับปรุงทั้งในส่วนของตู้รถไฟฟ้าใหม่ และรถไฟฟ้าเดิมด้วย

ทางด้านระบบไฟฟ้าเครื่องกล ก็ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์แปลงพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก (Auxiliary Converter) สำหรับจ่ายกำลังไฟฟ้าให้กับระบบปรับอากาศ และมีการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบต่างๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น เช่น ระบบแคร่รถไฟฟ้า (Bogies) ที่ปรับปรุงจากเดิม ระบบห้ามล้อ (Brake System) ระบบปรับอากาศและชุดระบบเปิด-ปิดประตูผู้โดยสาร ใช้อุปกรณ์ที่เป็นรุ่นใหม่ล่าสุดทั้งหมดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ตู้รถไฟฟ้าใหม่ดังกล่าว จะนำมาที่โรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (Depot) หมอชิต เพื่อประกอบอุปกรณ์ และชิ้นส่วนภายในบางส่วน เช่น ระบบปรับอากาศ เบาะนั่งผู้โดยสาร เสา และห่วงจับ จากนั้นจะทำการทดสอบระบบต่างๆ ของขบวนรถไฟฟ้า 4 ตู้ใหม่ โดยจะแบ่งเป็นการทดสอบแบบไม่เคลื่อนที่ (Static Test) คือ การทดสอบการจ่ายกำลังไฟฟ้า การทดสอบระบบปรับอากาศ การทดสอบระบบลมและแหล่งจ่ายอากาศ การทดสอบระบบห้ามล้อ การทดสอบระบบประตูผู้โดยสาร และการทดสอบการจ่ายไฟแบบฉุกเฉินให้แบตเตอรี่ เป็นต้น และการทดสอบแบบเคลื่อนที่ (Dynamic Test) ซึ่งจะเป็นการทดสอบสมรรถนะของระบบขับเคลื่อนและระบบห้ามล้อ และการทดสอบระบบป้องกันการลื่น-ไถล เป็นต้น เมื่อทำการทดสอบระบบเสร็จสิ้นจนมั่นใจว่ามีความปลอดภัยและมีความเสถียร จึงจะทยอยนำขบวนรถไฟฟ้า 4 ตู้ใหม่ ออกให้บริการ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มนำรถไฟฟ้าขบวนแรกออกให้บริการได้ในราวปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน 2555 นี้

ดังนั้นภายในปี 2556 บริษัทฯจะ มีขบวนรถไฟฟ้าให้บริการทั้งสิ้น 47 ขบวน จำนวน 188 ตู้ ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นรวมถึงรองรับการให้บริการในเส้นทางส่วนต่อขยาย สายสุขุมวิท อ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กิโลเมตรที่เพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554 ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มความจุในการขนส่งผู้โดยสารเป็นกว่า 30,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้สั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 5 ขบวน 20 ตู้เพื่อเตรียมรองรับการให้บริการในส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ซึ่งจะเปิดให้บริการบางส่วนในปี 2555 นี้ ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการส่วนต่อขยายในส่วนนี้แล้ว จะทำให้โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครหรือรถไฟฟ้าบีทีเอสนี้มีระยะทางให้บริการรวม 36.25 กิโลเมตร 34 สถานี โดยมีขบวนรถไฟฟ้าให้บริการทั้งสิ้น 52 ขบวน 208 ตู้

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารซึ่งมีการใช้บริการมากยิ่งขึ้นในแต่ละสถานี โดยหลังจากที่บริษัทฯ ได้ทดลองติดตั้งชุดรั้วและประตูอัตโนมัติบริเวณขอบชานชาลา หรือ Half-Height Platform Screen Doors (HHPSD) ที่ชานชาลาชั้นบน (Upper Platform) ของสถานีสยามตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 โดยมีวัตถุประสงค์ของการติดตั้งชุดรั้วและประตูอัตโนมัตินั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปรากฎว่าผลการทดสอบการติดตั้งชุดรั้วและประตูอัตโนมัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ตัดสินใจที่จะใช้งบลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อที่จะติดตั้งชุดประตูอัตโนมัติใน 6 สถานี ที่มีปริมาณผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก คือ สถานีสยาม อโศก อ่อนนุช ศาลาแดง พญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในเดือนกันยายนนี้ ใช้เวลาดำเนินการทั้งหมดประมาณ 1 ปี และมีแผนที่จะพิจารณาดำเนินการติดตั้งในสถานีอื่นๆต่อไปในอนาคต

ชุดรั้วและประตูอัตโนมัติมีขนาดความสูง 1.50 เมตร วัสดุทำจากอลูมิเนียมและกระจก ทนทานต่อแรงกระแทกและแรงกดทับได้เป็นอย่างดี ชุดรั้วและประตูอัตโนมัติประกอบด้วย จอ LCD ชุดประตู ชุดประตูฉุกเฉิน และชุดบานกระจก โดยจะติดตั้งไปตามแนวความยาวของชานชาลาสถานี ซึ่งสามารถรองรับการเดินรถทั้งแบบขบวนรถไฟฟ้า 3 ตู้ไปจนถึง 6 ตู้ การเปิด-ปิด จะเป็นระบบอัตโนมัติโดยต่อเชื่อมกับ ระบบอาณัติสัญญาณ เพื่อควบคุมการเปิด-ปิดประตูให้สอดคล้องกับประตูของขบวนรถไฟฟ้าทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด

นายคีรี กาญจนพาสน์ กล่าวในตอนท้ายว่า บริษัทฯ ขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หน่วยราชการและภาคเอกชน บริษัทพันธมิตร ชาวกรุงเทพมหานคร และที่สำคัญผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ได้ให้ความไว้วางใจบริษัทฯ เสมอมาจากวันแรกที่เปิดให้บริการด้วยรถไฟฟ้า 35 ขบวน 105 ตู้เมื่อปี 2542 มาจนถึงขณะนี้เป็นเวลาเกือบ 13 ปี แล้ว ด้วยระยะทางที่เพิ่มขึ้นเป็น 30.95 กิโลเมตรจำนวนสถานีเพิ่มขึ้นเป็น 30 สถานี และจำนวนขบวนรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเป็น 47 ขบวน 188 ตู้ในวันนี้ และด้วยแผนการจัดการของบริษัทฯ ที่เตรียมพร้อมในอนาคตอันใกล้กับการเปิดส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า ที่บริษัทฯ ได้สั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มนั้น รวมถึงการสร้างชุดรั้วและประตูกั้นขอบชานชาลา และสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเช่น บันไดเลื่อน ทางเชื่อม และอื่นๆ แสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ที่จะบริหารและจัดการการเดินรถไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนมีคุณภาพในการบริการที่เป็นมาตรฐานสากลเทียบเท่าหรือดีกว่าระบบขนส่งมวลชนในต่างประเทศ