นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง “รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู”

กลับ

มั่นใจ! พร้อมเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ ฟรี! ตลอดสาย 30 สถานี จากแคราย – มีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป

21 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมการเดินรถ และเข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ร่วมให้การต้อนรับ โดยตลอดการเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) ในช่วงสถานีมีนบุรี (PK30) ถึง สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) เป็นไปอย่างราบรื่น และในวันเดียวกันนี้ ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ขบวนรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จะพร้อมเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสาร ได้ตลอดเส้นทางครบทั้ง 30 สถานี และตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 จะเปิดให้ทดลองใช้บริการได้ระหว่างเวลา 06.00 - 20.00 น. ทุกวันต่อเนื่องไป จนกว่ารถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จะมีความพร้อมในการขยายระยะเวลาทดลองให้บริการเพิ่มขึ้นตามลำดับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมในความร่วมแรงร่วมใจของกระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน ที่ได้ดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี เพื่อเติมเต็มโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จนบัดนี้โครงการมีความคืบหน้าเกือบ 100% และมีความพร้อมที่จะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการกันแล้ว ซึ่งรัฐบาลมองว่า เป็นโอกาสอันดีที่อยากเชิญชวนให้ประชาชนในแนวสายทาง หรือผู้ที่สัญจรผ่านแนวถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา ไปจนถึงเขตมีนบุรี ได้ลองมาศึกษาแนวเส้นทางและรูปแบบการให้บริการของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ผ่านประสบการณ์ตรงในการทดลองใช้บริการ ได้ทดลองปรับพฤติกรรมในการเดินทาง ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เปลี่ยนมาใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องตามนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลในด้าน “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ที่มุ่งยกระดับความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

โดยรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู นับเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายที่สองของประเทศไทย ต่อจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT สายสีเหลือง) ที่ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ไปแล้วเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดเด่นในการทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) เช่นเดียวกัน เพราะมีสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักมากถึง 5 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง), สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับรถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา, สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว, สถานีวัชรพล เชื่อมต่อกับโครงรถไฟฟ้าสายสีเทาในอนาคต และสถานีมีนบุรี เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม จึงสามารถขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เข้าสู่รถไฟฟ้าสายหลักที่วิ่งให้บริการในพื้นที่ใจกลางเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในด้านศักยภาพการรองรับผู้โดยสารจะมีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการในระบบและขบวนสำรอง รวมทั้งสิ้น 42 ขบวน โดยระยะแรกแต่ละขบวนจะให้บริการด้วยขนาด 4 ตู้ต่อขบวน สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ประมาณ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง และในอนาคตเมื่อจำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นก็สามารถเพิ่มขนาดสูงสุดได้ถึง 7 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง เมื่อให้บริการด้วยความถี่ 2 นาที ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำชับให้ รฟม. ติดตามตรวจสอบการทดลองให้บริการของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู แก่ประชาชนอย่างใกล้ชิด ประเมินความพร้อมของงานและความปลอดภัยต่อผู้โดยสารที่จะเข้ามาใช้บริการในระบบรถไฟฟ้าเป็นหัวใจสำคัญสูงสุด ก่อนที่จะรับรองการเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ให้แก่ผู้รับสัมปทานต่อไป ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินเดือนธันวาคม 2566 นี้

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี มีระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร ใช้ทางวิ่งยกระดับตลอดสาย รวมทั้งสิ้น 30 สถานี ประกอบด้วย สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีแคราย สถานีสนามบินน้ำ สถานีสามัคคี สถานีกรมชลประทาน สถานีแยกปากเกร็ด สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด สถานีแจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด 28 สถานีศรีรัช สถานีเมืองทองธานี สถานีแจ้งวัฒนะ 14 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ สถานีหลักสี่ สถานีราชภัฏพระนคร สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีรามอินทรา 3 สถานีลาดปลาเค้า สถานีรามอินทรา กม.4 สถานีมัยลาภ สถานีวัชรพล สถานีรามอินทรา กม.6 สถานีคู้บอน สถานีรามอินทรา กม.9 สถานีวงแหวนรามอินทรา สถานีนพรัตน์ สถานีบางชัน สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ สถานีตลาดมีนบุรี และสถานีมีนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง ในบริเวณเดียวกันนี้ เพื่อรองรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวสามารถนำรถมาจอดและเดินทางเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะทางรางได้โดยสะดวก นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จะเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสามารถเดินทางจากสถานีเมืองทองธานี เข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ผ่านวงแหวนเมืองทองธานี ไปสิ้นสุดปลายทางบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานีได้โดยสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู MRT Pink Line Call Center โทร. 0 2617 6111 Line Official: @pinkyellowline หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู และติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสาร รฟม. ได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044 “รฟม. ร่วมยกระดับเมืองด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและนวัตกรรม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”